วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เที่ยวชม พระราชวังบางปะอิน

สวัสดีครับ...
    ก่อนอื่นต้องขอทักทายผู้ที่เข้าชมบล็อกทุกท่าน และขอขอบคุณที่เปิดเข้ามาชม ดูแล้วมีอะไรที่จะติติงหรือแนะนำก็เขียนมาบอกกันบ้างนะครับ
    ท่านผู้ชมเคยไปเที่ยวที่พระราชวังบางปะอิน อยุธยา กันบ้างไหม ถ้าท่านที่ไม่เคยไปต้องขอบอกเลยนะครับว่าน่าจะลองหาโอกาสไปเที่ยวชมดู เพราะเป็นอะไรที่น่าประทับใจมากๆ ตัวผมเองเคยไปเที่ยวชมมาแล้วสองครั้ง สถานที่สวยงามร่มรื่น ไปเห็นแล้วเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยจริงๆ ที่ได้เห็นพระราชวังโบราณอันเป็นที่ประทับของพระมหากบัตริย์ในครั้งอดีต
    ถ้าท่านที่เคยไปเที่ยวชมแล้ว อาจจะยังไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมาของพระราชวังแห่งนี้ หรืออาจจะพอทราบมาบ้างแล้ว เพื่อเป็นการไปเที่ยวชมที่เหมือนกับได้ย้อนกลับไปสู่อดีตของพระราชวังแห่งนี้ จึงได้นำประวัติความเป็นมาของพระราชวังบางปะอิน และสถานที่ต่างๆ พร้อมภาพสวยๆ มาฝาก ลองติดตามดูก่อนเดินทางไปเที่ยวนะครับ





   พระราชวังบางปะอิน  ชมสถาปัตยกรรมไทย ยุโรป จีน
พระราชวังบางปะอินประกอบด้วยพระที่นั่งต่างๆ  ซึ่งมีสถาปัตยกรรมหลากหลาย ทั้งไทย ยุโรป และจีน สามารถเข้าไปชมภายในได้บางส่วน สำหรับชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นท้องพระโรง มีบัลลังก์ที่ประทับ 


   ประวัติ
     พระราชวังบางปะอิน มีประวัติความเป็นมาตามพระราชพงศาวดารครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า พระเจ้าปราสาททอง หรือพระศรีสรรเพ็ชญ์ที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นบนเกาะบ้านเลน ในลำแม่น้ำเจ้าพระยา
     ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าปราสาททอง เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ ประสูติแต่หญิงสาวชาวบ้าน ซึ่งพระองค์ทรงพบเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งแล้วเกิดล่มลงตรงเกาะบางปะอิน เมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชในปี พ.ศ.2173 แล้วต่อมาในปี พ.ศ.2175 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งบนเกาะบางปะอิน ตรงบริเวณเคหสถานเดิมของพระมารดา พระราชทานชื่อว่า "วัดชุมพลนิกายาราม" และให้ขุดสระน้ำสร้างพระราชนิเวศน์สถานขึ้นกลางเกาะ เป็นที่สำหรบเสด็จประพาส แล้วสร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งขึ้นริมสระน้ำนั้น พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์" พระราชวังแห่งนี้คงเป็นที่ประพาสสำราญพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดมา และคงรกร้างทรุดโทรมไปแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2310 เป็นต้นมา
    พระราชวังบางปะอินได้รับการบูรณะฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งสำหรับเป็นที่ประทับ มีเรือนแถวสำหรับฝ่ายใน และมีพลับพลาริมน้ำ เป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์โปรดที่จะเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินอยู่เสมอ ด้วยทรงปรารภว่า เป็นเกาะกลางน้ำที่เงียบสงบ ร่มรื่น และเคยเป็นที่ประทับประพาสของสมเด็จพระบรมราชนกนาถมาก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่ง และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้น ดังที่ปรากฎเห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งยังคงใช้เป็นที่ประทับ ที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ และพระราชทานเลี้ยงรับรองในโอกาสต่างๆ เป็นครั้งคราว




    พระที่นั่งวโรภาษพิมาน
 เป็นพระที่นั่งทรงตึกชั้นเดียว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2419 ตรงบริเวณที่ประทับเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นที่ประทับและมีท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการ ถายในห้องโถงรับรอง และห้องทรงพระสำราญ ประดับภาพเขียนสีน้ำมัน ภาพพระราชพงศาวดารประกอบโครงบรรยายภาพอันงดงามทรงคุณค่า เป็นภาพเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย และฉากต่างๆ จากวรรณคดีไทยหลายเรื่อง




 หอวิฑูรทัศนา พระที่นั่งเวหาศจำรูญ
   หอวิฑูรทัศนา เป็นหอสูงยอดมน ตั้งอยู่กลางเกาะในพระราชอุทยาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2424 เพื่อใช้เป็นหอส่องกล้องชมภูมิประเทศและดูดาว
   พระที่นั่งเวหาศจำรูญ เป็นพระที่นั่งสองชั้นสร้างในแบบศิลปะจีนอย่างงดงาม โดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในไทยสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายในปี พ.ศ.2432 พระที่นั่งองค์นี้ มีนามตามภาษาจีนด้วยว่า "เทียนเหมงเต้ย" (เทียน - เวหา เหมง - จำรูญ เต้ย - พระที่นั่ง ) 
    ภายในห้องกลางชั้นบนของพระที่นั่ง เป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งเก๋ง 3 องค์ ติดต่อกัน ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายต่างๆ ลงรักปิดทอง
     อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ 
     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ด้วยทรงสูญเสียพระอัครฉายาเธอฯ และพระราชโอรส พระราชธิดา 3 พระองค์ ในปีเดียวกัน เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ที่ระลึก สร้างด้วยหินอ่อน แกะสลักพระรูปเหมือนไว้ใกล้กับอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น